วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ท่าเตะ

ท่าเตะตะกร้อมีหลายท่าที่แสดงให้เห็นถึงความงดงามและความว่องไว ตามปกติจะใช้หลังเท้า แต่นักเล่นตะกร้อจะมีวิธีเตะที่พลิกแพลง ใช้หน้าเท้า เข่า ไขว้ขา (เรียกว่าลูกไขว้) ไขว้ขาหน้า ไขว้ขาหลัง ศอก ข้อสำคัญ คือ ความเหนียวแน่นที่ต้องรับลูกให้ได้เป็นอย่างดีเมื่อลูกมาถึงตัว ผู้เล่นมักฝึกการเตะตะกร้อด้วยท่าต่าง ๆ ลีลาในการเตะตะกร้อมี 4 แบบ คือ การเตะเหนียวแน่น (การรับให้ได้อย่างดี) การเตะแม่นคู่ (การโต้ตรงคู่) การเตะดูงามตา (ท่าเตะสวย มีสง่า) การเตะท่ามาก (เตะได้หลายท่า)

ประโยชน์ของตะกร้อ

ตะกร้อเป็นกีฬาไทยที่เล่นกันแพร่หลายมานานนับศตวรรษ ไม่ว่าจะเป็นตามชนบท ในวัด ในวัง ในเมือง จะพบเห็นการเล่นตะกร้อเสมอ เพราะตะกร้อไม่ต้องใช้บริเวณพื้นที่กว้างขวางเหมือนกีฬาประเภทอื่น ๆ อุปกรณ์ก็หาได้ง่าย ทั้งผู้เล่นก็ไม่จำกัดรูปร่าง เพศหรือวัย ตลอดจนไม่จะกัดผู้เล่นตายตัว อาจยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสมการเล่นตะกร้อจึงได้รับความนิยมตลอดมาซึ่งผู้เล่นจะได้รับประโยชน์จากการเล่นทั้งทางตรงและทางอ้อมนับอเนกประการดังนี้
                1 ) ตะกร้อเป็นกีฬาที่ประหยัด
 ลงทุนน้อยแต่เล่นได้หลายคน คุ้มค่าเงิน สามารถร่วมทุนกันคนละเล็กละน้อยหรือผลัดกันซื้อก็ได้     ทั้งลูกตะกร้อก็มีความทนทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารู้จักใช้และรู้จักเก็บรักษาให้ดี

                2 ) การเล่นตะกร้อเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทำให้จิตใจสดชื่นแจ่มใสและที่สำคัญผู้ที่เล่นตะกร้อยังได้ชื่อว่าเป็นผู้หนึ่งที่ส่งเสริมกีฬาศิลปะและวัฒนธรรมไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรักษาเอกลักษณ์ของชาติอีกด้วย
                3 ) การเล่นตะกร้อยังเป็นพื้นฐานของการเล่นกีฬาปะเภทอื่นได้เป็นอย่างดี เพราะทำให้ผู้เล่นรู้จักวิธีการครอบครองลูก รู้จังหวะเข้าออก จังหวะการเตะ โดยให้มีความสัมพันธ์ระหว่างมือ เท้า อวัยวะต่างๆ ได้เคลื่อนไหวสอดคล้องกัน สร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ ก่อให้เกิดความแข็งแรงและความอดทนอีกด้วย
                 4 ) การเล่นตะกร้อสามารถเล่นคนเดียวก็ได้
 หรือถ้ามีผู้เล่นมากขึ้นก็สามารถปรับการเล่นได้ตามความเหมาะสม อันตรายจากการเล่นตะกร้อนั้นมีน้อยมาก เพราะจะไม่มีการปะทะหรือถูกต้องตัวกันระหว่างผู้เล่นด้วยกันเอง หรือแม้แต่อุปกรณ์การเล่น ก็มิได้ทำให้เกิดอันตราย ถ้าผู้เล่นรู้จักสังเกตว่ามีอุปกรณ์ใดชำรุดก็ปรับเปลี่ยนหรือซ่อมแซมให้พร้อมก่อนที่จะเล่น การเคลื่อน ที่ด้วยความระมัดระวังก็จะทำให้เกิดการหกล้มเสียหลักได้ยาก และการเล่นตะกร้อนั้นสามารถใช้อวัยวะได้หลายส่วน ทำให้ไม่เกิดการบอบช้ำเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายอีกด้วย
                  5 ) การเล่นตะกร้อ เป็นการฝึกให้เกิดความคล่องแคล่วว่องไว ปราดเปรียว เพราะต้องมีความระมัดระวังตัวและเตรียมตัวพร้อมที่จะเข้าเล่นลูกในลักษณะต่างๆ อยู่ตลอดเวลา การเคลื่อนไหวก็ต้องกระทำด้วยความรวดเร็วกระฉับกระเฉง เพื่อให้ทันกับจังหวะที่จะเล่นลูก
                 6 ) การเล่นตะกร้อเป็นการฝึกให้เป็นผู้ที่มีอารมณ์เยือกเย็น สุขุม รอบคอบ
 เพราะการเล่นหรือการเตะลูกแต่ละครั้งจะต้องอาศัยสมาธิ และความตั้งใจอย่างแน่วแน่ ถ้าหากใจร้อนหรือลุกลี้ลุกลน การเตะแต่ละครั้งก็จะเสียไป ทำให้เล่นผิดพลาดได้บ่อยๆ ถ้าเป็นการแข่งขันก็จะพ่ายแพ้แก่คู่แข่งขันได้ง่าย
                7 ) การเล่นตะกร้อเป็นการฝึกการตัดสินใจ เพราะก่อนการเล่นลูกทุกครั้งจะต้องมีการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทาง ความเร็ว ความแรงและลักษณะการหมุนของลูก ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการตัดสินใจว่าต้องเล่นลูกด้วยท่าใด ส่งลูกไปยังทิศทางใด การกะระยะส่งลูก เป็นต้น
               8 ) การเล่นตะกร้อจะช่วยประสานหน้าที่ของอวัยวะในร่างกายให้มีระบบการทำงานดีขึ้น และเป็นการฝึกประสาทได้เป็นอย่างดี เพราะการเล่นลูกแต่ละครั้งต้องอาศัยระหว่างความสัมพันธ์ ระหว่างประสาทกับกล้ามเนื้อ และอวัยวะต่างๆ เพื่อทำให้การเตะและการเล่นลูกเป็นไปอย่างราบรื่น นิ่มนวลและได้จังหวะ ทั้งจะต้องมีปฏิภาณไหวพริบ มีการแก้ไขปัญหาตลอดเวลาที่เล่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเล่นเพื่อแข่งขัน จะต้องมีการวางแผนการเล่นโดยอาศัยปัจจัยหลายประการ เนื่องจากการแข่งขันจะชี้ได้ว่าใครมีเชาว์ปัญญา ปฏิภาณไหวพริบดีกว่าหรือมากกว่ากัน
                                                
                9 ) การเล่นตะกร้อก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดทั้งผู้เล่นและผู้ชม การร่วมวงเล่นตะกร้อมักจะมีการส่งเสียงแสดงความดีใจพอใจตลอดเวลาในการเล่น หรือการเตะท่าพลิกแพลงต่างๆ ของผู้เข้าร่วมวงอยู่เสมอ จึงก่อให้เกิดความสามัคคีระหว่างผู้เล่นด้วยกัน รู้จักหน้าที่รับผิดชอบและให้โอกาสแก่ผู้อื่น เกิดมนุษยสัมพันธ์ที่ดีมีความเข้าอกเข้าใจ รู้นิสัยใจคอกันดีขึ้น ยอมรับผิดและให้อภัยกันเสมอ นับเป็นการช่วยส่งเสริมให้เข้าสังคมได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
                10 ) การเล่นตะกร้อนั้นเล่นได้ไม่จำกัดเวลา คือจะเล่นเวลาใดก็ได้ตามความประสงค์ของผู้เล่น ทั้งระยะเวลาในการเล่นก็ไม่กำหนดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความพอใจของผู้เล่น
                11 ) กีฬาตะกร้อเล่นได้ไม่จำกัดสถานที่
 อาจจะเป็นในร่มหรือกลางแจ้ง ทั้งสภาพของสนามก็ไม่เป็นอุปสรรคมากมายนัก ขนาดของสนามก็ยืดหยุ่นได้ไม่ตายตัวเหมือนกีฬาอื่น ๆ
                12 ) ตะกร้อเป็นกีฬาที่เหมาะสมกับบุคคลทุกเพศทุกวัย เพราะเป็นกีฬาที่ไม่หนักหรือเบาจนเกินไป สามารถปรับการเล่นตามความสามารถและกำลังของผู้เล่นได้ ทั้งในด้านทักษะก็มีหลายระดับชั้น ซึ่งดูเหมือนจะท้าทายและจูงใจผู้เล่นไม่รู้จบสิ้น ผู้เล่นสามารถพัฒนาทักษะไปตามวัย นอกจากนั้นอาจเล่นเพื่อความสวยงาม เพื่อการออกกำลังกาย เพื่อการแสดง หรือเพื่อการแข่งขันก็ได้

ประเภทของตะกร้อ

       ประเภทของกีฬาตะกร้อ
            การเล่นตะกร้อในประเทศไทยเท่าที่ปรากฏมาแต่เดิมจนถึงปัจจุบันมีอยู่ ๘ ประการด้วยกันคือ
                ๑.      ตะกร้อวงเล็ก
                ๒.    ตะกร้อวงใหญ่
                ๓.    ตะกร้อเตะทน
                ๔.    ตะกร้อพลิกแพลง
                ๕.    ตะกร้อชิงธง
                 ๖.     ตะกร้อลอดห่วง
                 ๗.    ตะกร้อข้ามตาข่าย
                 ๘.    เซปัก ตะกร้อ

๑.ตะกร้อวงเล็ก
ตะก้อวงนับเป็นการเริ่มแรกของรูปแบบการเล่นตะกร้อ ซึ่งอาจใช้ผู้เล่นเพียงคนเดียว เตะหรือเดาะลูก เล่นให้ลูกลอยอยู่ในอากาศและใช้อวัยวะหลายๆ ส่วนที่แตกต่างกันเตะหรือเดาะลูก โดยใช้ทั้งเท้า เข่า ศอก ศีรษะ ต่อมาอาจมีผู้เล่นเพิ่มเป็น ๒ คน มีการโยนให้ผู้ยืนอยู่ตรงข้ามเตะโต้กันเป็นเวลานานๆ โดยทั่วไปแล้วผู้เตะมักจะเตะลูกที่ตนถนัด เช่น ลูกแป ลูกหลังเท้า ลูกโหม่ง เป็นต้น การเล่นตะกร้อวงเล็กนั้นจะเล่นในบริเวณที่แคบๆ เช่น บนโต๊ะ หรือสนามซึ่งเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ ๓ เมตร
๒. ตะกร้อวงใหญ่
                ลักษณะและรูปแบบการเล่นเหมือนกับการเล่นตะกร้อวงเล็ก ต่างกันตรงที่สถานที่เล่นและจำนวนผู้เล่น กล่าวคือ ตะกร้อวงใหญ่จะเล่นในสนามเรียบมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๘ ๑๔ เมตร ซึ่งอยู่กับผู้เล่นว่าจะมีจำนวนเท่าใด โดยปกแล้วจะมีผู้เล่นตั้งแต่ ๕ ๘ คน ท่าทางการเล่นนั้นก็มีลักษณะเช่นเดียวกับการเล่นตะกร้อวงเล็ก แต่ตะกร้อวงใหญ่ต้องออกแรงเตะลูกหรือส่งลูกมากกว่า มิฉะนั้นตะกร้อจะไม่ถึงผู้รับ ผู้เล่นต้องระมัดระวังจังหวะการเล่น ท่าทางต่างๆ ตลอดจนน้ำหนักหรือแรงเหวี่ยงให้เหมาะสม
๓. ตะกร้อเตะทน
                ตะกร้อเตะทนหรือตะกร้อวงเตะทน มักนิยมเล่นแข่งขันกันเป็นทีม จึงควรศึกษาไว้เพื่อนำไปเล่นกันต่อไป
๔. ตะกร้อพลิกแพลง
                ตะกร้อพลิกแพลง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การติดตะกร้อการเล่นตะกร้อแบบนี้ผู้เล่นต้องมีความชำนาญเป็นอย่างดี เพราะลูกที่ผู้เตะจะเตะแต่ละท่า ดัดแปลงมาจากท่าธรรมดา การเล่นตะกร้อพลิกแพลงนี้ส่วนมากไม่ทำการแข่งขัน เป็นเพียงเล่นกันเพื่ออวดลวดลายในการเตะเพื่อดูกันแปลกๆ และเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินกันเท่านั้น วิธีเล่นก็ตั้งวงเหมือนตะกร้อวง แต่ไม่ต้องขีดเส้นเหมือนตะกร้อวง ผู้เล่นจะมีตั้งแต่ ๒ ๘ คน แต่ละคนก็จะเตะหรือใช้กระบวนท่าส่งลูกไปยังคู่ ซึ่งคู่โต้ก็จะแสดงท่าพลิกแพลงต่างๆ ในลักษณะที่เรียกกันว่า ติดตะกร้อ สักระยะเวลาหนึ่งแล้วก็จะส่งกลับไปยังผู้เล่นอื่นบ้าง ซึ่งผู้เล่นร่วมวงคนอื่นก็จะแสดงท่าพลิกแพลงที่แตกต่างกันออกไปอีก เช่น รับลูกตะกร้อที่ส่งมาด้วยหลังเท้าแล้วเตะลูกไม่ให้ตก จากนั้นก็เตะส่งลูกขึ้นไปติดค้างกับส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ข้อพับ ขาหนีบ ซอกคอ ต้นคอ หน้าขา หรือสงบนิ่งอยู่บนหลังเท้าและเมื่อได้จังหวะอีกก็เตะลูกใหม่ไปติดค้างอยู่ตามร่างกายส่วนอื่นๆ ได้อีก ผู้เล่นที่ชำนาญจะติดตะกร้อได้ตั้งแต่หนึ่งลูก ไปจนถึง ๑๗ ลูกก็มี
๕. ตะกร้อชิงธง
                ตะกร้อชิงธงหรือตะกร้อเตะช่วงชัย เป็นการแข่งขันตะกร้ออีกวิธีหนึ่ง คล้ายการแข่งขันวิ่งวัวหรือวิ่งเร็ว โดยขีดเส้นด้วยปูนขาวลงบนพื้น ทำเป็นช่องทางกว้างประมาณ ๓ เมตร ยาวประมาณ ๕๐ เมตร เมื่อผู้เข้าแข่งขันยืนประจำที่เส้นเริ่มต้น จากนั้นเมื่อได้ยินสัญญาณให้เลี้ยงตะกร้อด้วยอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย ยกเว้นมือ โดยพยายามพาลูกตะกร้อไปยังปลายทาง ซึ่งมีเส้นชัย มีธงปักไว้เป็นเครื่องหมาย ถ้าผู้เล่นคนใดสามารถเลี้ยงตะกร้อโดยไม่ออกนอกลู่ และไม่ตกพื้นจนกระทั่งถึงเส้นชัยก่อนจะเป็นผู้ชนะการแข่งขัน

๖. ตะกร้อลอดห่วง
                ตะกร้อลอดห่วง มักเรียกวันหลายชื่อ เช่น ตะกร้อลอดบ่วง ตะกร้อห่วงชัย หลวงมงคลแมน ( สังข์ บูรณะศิริ ) เป็นผู้ริเริ่มคิดขึ้นราวช่วง พ.ศ. ๒๔๗๐ ๒๔๗๕ เริ่มมีการแข่งขึ้นครั้งแรกราว พ.ศ. ๒๔๗๖ ตะกร้อลอดห่วงมีผู้เล่น ๗ คน สำรอง ๓ คน สนามสำหรับสำหรับแข่งเป็นพื้นราบอยู่ในร่มหรือกลางแจ้งก็ได้ ในขณะที่เล่นจะเปลี่ยนตัวผู้เล่นไม่ได้ จะเปลี่ยนได้ในคราวแข่งขันคราวต่อไป มีลวดสปริงขึงไว้ระหว่างเสาทั้งสองต้นซึ่งห่างกันประมาณ ๒๐ เมตร ลวดสปริงที่ขึงนั้นสูงจากพื้น ๘ เมตร มีรอกสำหรับแขวนห่วง ๑ ตัว อยู่กึ่งกลางลวดสปริงห่วงชัยประกอบด้วยวงกลม ๓ ห่วง ขนาดเท่ากัน จะทำด้วยโลหะ หวาย หรือไม้ก็ได้ ขอบล่างของห่วงต้องได้ระดับ สูงจากพื้นสนาม ๕.๗๕ เมตร เวลาลูกตะกร้อเข้าห่วง ให้หย่อนลงมาเพื่อนะลูกตะกร้อจากถุงห่วงและโยนขึ้นเล่นใหม่ มีผู้ชักรอก ๑ คน ใช้เวลาในการแข่งขันครั้งละ ๕๐ นาที ไม่มีพัก ผู้เล่นทั้ง ๗ คน ยืนเป็นวงห่างกันพอสมควร การเตะลูกตะกร้อเข้าห่วงทำได้ทุกคนจะเตะลูกตะกร้อท่าใดก็ได้และมีคะแนนให้ทุกท่าและทุกลูกที่เข้าห่วง โดยให้คะแนนตามความยากง่ายของแต่ละท่า คณะตะกร้อชุดใดได้คะแนนมากในเวลาที่กำหนดเป็นฝ่ายชนะ
                          รายละเอียดเกี่ยวกับกติกาการแข่งขันตะกร้อลอดห่วง ศึกษาได้จากสมาคมกีฬาไทยพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย หรือที่สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย ทุกแห่ง

๗. ตะกร้อข้ามตาข่าย
                การเล่นตะกร้อข้ามตาข่ายแบบไทยนี้ เนื่องจากมีนักตะกร้อและนักแบดมินตันบางท่าน ซึ่งมี หลวงสำเร็จวรรณกิจ ขุนจรรยาวิฑิต นายผล ผลาสินธุ์  และนายยิ้ม ศรีหงส์ เป็นคณะผู้ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยพยายามการเล่นตะกร้อกับแบดมินตันเข้าด้วยกันและเรียกกีฬาใหม่นี้ว่า ตะกร้อข้ามตาข่าย โดยมีการนับคะแนนแบบแบดมินตัน จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๕ สมาคมกีฬาสยามซึ่งเป็นชื่อสมาคมในสมัยนั้น บัดนี้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมกีฬาไทย ได้ขอให้หลวงคุณวิชาสนอง ร่างกติกาตะกร้อข้ามตาข่ายขึ้น และ พ.ศ. ๒๔๗๖ จึงจัดให้มีการแข่งขันตะกร้อข้ามตาข่ายระหว่างประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรกในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ประจำปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ปรากฏว่าต่อมามีผู้นิยมเล่นกันมากและแพร่หลายกันมากขึ้นตามลำดับ จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๙ กรมพลศึกษาจึงจัดให้มีการแข่งขันตะกร้อข้ามตาข่ายระหว่างนักเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก

๘. เซปักตะกร้อ
                เซปักตะกร้อหรือตะกร้อข้ามตาข่ายแบบสากล เป็นกีฬาที่ได้พัฒนามาจนเป็นที่แพร่หลายไปเกือบทั่วโลก  ประเทศมาเลเซียเป็นผู้คิดค้นกติกาการเล่น ซึ่งลักษณะการเล่นเซปักตะกร้อคล้ายกับการเล่นตะกร้อข้ามตาข่ายของไทย แต่ต่างกันตรงรูปแบบ สนาม การเล่นลูก การนับคะแนน และกติกาการแล่น
                           ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ในช่วงฤดูการแข่งขันกีฬาไทย ซึ่งมีการแข่งขันว่าว กระบี่กระบอง และตะกร้อ โดยสมาคมกีฬาไทย ณ ท้องสนามหลวง ราวเดือนมีนาคมและเมษายน ในปีนี้สนามคมตะกร้อจากปีนัง ประเทศมาเลเซีย ได้เชื่อมความสัมพันธ์เพื่อแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ได้มีการแข่งขันตะกร้อของทั้งสองประเทศ นักกีฬาทีมชาติไทยมีความถนัดในการเล่นตะกร้อแบบกติกาไทย ส่วนนักกีฬาทีมชาติมาเลเซีย มีความถนัดในการเล่นตะกร้อแบบกติกามาเลเซีย คณะกรรมการจัดการแข่งขัน จึงได้กำหนดกติกาในการแข่งขันทั้งสองแบบ ผลการแข่งขันตะกร้อแบบกติกาไทย ปรากฏว่านักกีฬาทีมชาติไทยชนะนักกีฬาทีมชาติมาเลเซียสองเซตรวด ส่วนการแข่งขันแบบกติกามาเลเซีย ปรากฏว่านักกีฬาทีมชาติไทยแพ้นักกีฬาทีมชาติมาเลเซียสิงเซตรวดเช่นเดียวกัน
                             ภายหลังการแข่งขันตะกร้อครั้งนั้น คณะผู้ประสานงานกีฬาตะกร้อของทั้งสองประเทศ ได้มีการประชุมเพื่อปรึกษาหารือในการเผยแพร่กีฬาชนิดนี้ให้กว้างขวางเป็นที่นิยมต่อนาอารยประเทศ จึงได้ตกลงร่วมกันกำหนดชื่อกีฬานี้ขึ้นใหม่ ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ใช้ชื่อไม่เหมือนกัน ประเทศไทยใช้ชื่อว่า
กีฬาตะกร้อ ส่วนมาเลเซียใช้ชื่อว่า ซีปัก รากา ซึ่งคำว่า รากา นั้น แปลว่าตะกร้อนั้นเอง คณะกรรมการประสานงานหรือสมาคมกีฬาของทั้งสองประเทศ จึงได้นำคำว่า SEPAK ของมาเลเซีย มารวมกับคำว่า ตะกร้อ ของประเทศไทย รวมเป็นคำว่า SEPAK – TAKRAW หรือ เซปักตะกร้อมาตราบเท่าทุกวันนี้ และกีฬาเซปักตะกร้อได้บรรจุเข้าในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และบรรจุเข้าแข่งขันในกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๓ ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

ลักษณะการเล่นกีฬาตะกร้อ

การเล่นตะกร้อสามารถเล่นได้หลายแบบ ดังนี้
  • การเล่นเป็นทีม ผู้เล่นจะล้อมเป็นวง ผู้เริ่มต้นจะใช้เท้าเตะลูกตะกร้อไปให้อีกผู้หนึ่งรับ ผู้รับจะต้องมีความว่องไวในการใช้เท้ารับและเตะส่งไปยังอีกผู้หนึ่ง จึงเรียกวิธีเล่นนี้ว่า "เตะตะกร้อ" ความสนุกอยู่ที่การหลอกล่อที่จะเตะไปยังผู้ใด ถ้าผู้เตะทั้งวงมีความสามารถเสมอกัน จะโยนและรับไม่ให้ตะกร้อถึงพื้นได้เป็นเวลานานมาก กล่าวกันว่าทั้งวันหรือทั้งคืนก็ยังมี แต่ผู้เล่นยังไม่ชำนาญก็โยนรับได้ไม่กี่ครั้ง ลูกตะกร้อก็ตกถึงพื้น
  • การติดตะกร้อ (เล่นเดี่ยว) การเล่นตะกร้อที่มีชื่อเสียงมากของไทยคือ การติดตะกร้อ เป็นศิลปะการเล่นตะกร้อ คือ เตะตะกร้อให้ไปติดอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย และต้องถ่วงน้ำหนักให้อยู่นาน แล้วใช้อวัยวะส่วนนั้นส่งไปยังส่วนอื่น โดยไม่ให้ตกถึงพื้น เช่น การติดตะกร้อที่หลังมือ ข้อศอก หน้าผาก จมูก เป็นต้น นับว่าเป็นศิลปที่น่าชม ผู้เล่นต้องฝึกฝนอย่างมาก
  • ตะกร้อติดบ่วง การเตะตะกร้อติดบ่วง ใช้บ่วงกลมๆแขวนไว้ให้สูงสุด แต่ผู้เล่นจะสามารถเตะให้ลอดบ่วงไปยังผู้อื่นได้ กล่าวกันว่าบ่วงที่เล่นเคยสูงสุดถึง 7 เมตร และยิ่งเข้าบ่วงจำนวนมากเท่าไรยิ่งแสดงถึงความสามารถ

ประวัติกีฬาตะกร้อ

ในการค้นคว้าหลักฐานเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดการเล่นกีฬาตะกร้อในอดีตนั้น ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้อย่างชัดเจนว่าตะกร้อนั้นกำเนิดจากที่ใด จากการสันนิษฐานคงจะได้หลายเหตุผลดังนี้
  • พม่า เมื่อประมาณ พ.ศ. 2310 กองทัพพม่ามาตั้งค่ายอยู่ที่โพธิ์สามต้น มีการเล่นตะกร้อในช่วงพัก ซึ่งพม่าเรียกว่า "ชิงลง"
  • ทางมาเลเซียประกาศว่า ตะกร้อเป็นกีฬาของประเทศมาลายูเดิมเรียกว่า ซีปักรากา (Sepak Raga) คำว่า Raga หมายถึง ตะกร้า
  • ทางฟิลิปปินส์ นิยมเล่นกีฬาชนิดนี้กันมานานแล้ว โดยมีชื่อเรียกของตนว่า Sipak
  • ทางประเทศจีนมีเกมกีฬาที่คล้ายตะกร้อแต่เป็นการเตะลูกหนังปักขนไก่ ซึ่งจะแสดงให้เห็นผ่านทางภาพเขียนและพงศาวดารจีน
  • ทางประเทศเกาหลีมีเกมกีฬาลักษณะคล้ายคลึงกับของจีนแต่ใช้ดินเหนียวห่อด้วยผ้าสำลีเอาหางไก่ฟ้าปัก แทนการใช้ลูกหนักปักขนไก่
  • ประเทศไทยมีความนิยมเล่นกีฬาตะกร้อมายาวนาน และ สามารถประยุกต์จนเข้ากับประเพณีของชนชาติไทยอย่างกลมกลืนและสวยงามทั้งด้านทักษะและความคิด
การเล่นตะกร้อมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาตามลำดับทั้งด้านรูปแบบและวัตถุดิบในการทำจากสมัยแรกเป็นผ้า,หนังสัตว์,หวาย,จนถึงประเภทสารสังเคราะห์ (พลาสติก)